สวัสดีครับ สุเอะบะชิครับ สครัมเบิ้ล วิซาร์ดก็มาถึงเล่ม 7 แล้วนะครับ
ในระหว่างการเขียนหนังสือเล่มนี้ ผมทรมานกับการปวดฟันมาตลอดเลย
มันไม่ใช่ฟันผุหรอกนะครับ (ตอนเด็กๆ ฟันหน้าด้านบนและด้านล่าง 4 ซี่ รวมถึงฟันกรามทั้งสองฝั่งที่ด้านบนและด้านล่างของผมมันผุพังเสียหาย จนต้องไปเยือนนรกกับหมอฟันเลยล่ะครับ และตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา ผมก็ดูแลใส่ใจฟันเป็นอย่างดี) แต่ดูเหมือนว่าฟันคุดมันขึ้นผิดท่าน่ะ เจ้าฟันคุดซี่นี้มันโผล่หัวออกมาจากเหงือกในทิศทางแปลกๆ และกดฟันที่อยู่ข้างๆ จนเจ็บแปลบๆ ครับ สำหรับผมที่ชอบกินข้าวมากกว่า 3 มื้อ รวมถึงต้องมีอาหารว่างหลังอาหารหลักอย่างขาดไม่ได้ สภาพแบบนี้มันร้ายแรงมากเลย
ผมได้ลองค้นหาวิธีรักษาเจ้าฟันคุดนี้มาหลายอย่างเลยล่ะครับ แต่ดูเหมือนว่าวิธีการรักษาจะจัดอยู่ในประเภทการผ่าตัดช่องปาก
ช่องปาก…ก็หมายถึงภายในปากนั่นล่ะครับ ปัญหาน่ะมันต่อจากนี้ต่างหาก
การผ่าตัด
ผ่าตัด ผ่าตัดดด (เคะกะ) มันก้องอยู่ในหัวดูโหดร้ายมากเลย
โดยเฉพาะคำว่า “เคะ” สำหรับตัวผมน่ะ มันเหมือนเสียงหัวเราะ “เคะๆๆ ๆๆๆ !” น่าเกลียดๆ ของผู้ชายที่ถือไม้ตะบองที่ตกแต่งด้วยหนามแหลมๆ
เอาเถอะ ถ้าเอาแต่กลัวอยู่แบบนี้มันก็จะไม่หายเสียที ผมก็เลยค้นหาข้อมูลจากคนใกล้ตัวที่มีประสบการณ์ถอนฟันคุดดู ผมสรุปเรื่องราวที่ได้ฟังมาออกเป็นลำดับใหญ่ๆ ได้ดังนี้
1. อ้าปากออกกว้างๆ พร้อมกับถูกฉีดยาชา (พอพูดถึงฉีดยาแล้ว ก็รู้สึกหนาวสะท้านขึ้นมาทันที)
2. กรีดเหงือกออกด้วยมีดผ่าตัด (พอถึงตรงนี้ หน้าผมเริ่มซีดแล้ว)
3. หมอจะสอดไม้พายเหล็กเข้าไป และเริ่มขุดฟันคุดที่ฝังตัวอยู่ภายในอย่างรุนแรง จากนั้นเสียงที่ดังขึ้นจากการขุดก็จะส่งผ่านไปยังสมอง (ถึงตรงนี้แล้ว สีหน้าของผมเลยจากคำว่าซีดไปเป็นขาวแล้วล่ะ)
4. หากว่าเจ้าฟันคุดมันดื้อดึง ก็จะใช้ใบมีดไฟฟ้า หรือว่าสิ่ว(?) ทุบให้แตก และนำเศษฟันออก ในช่วงเวลาสุดท้ายของฟันคุดก็จะมีเสียงดังราวกับกำลังเจาะหินส่งผ่านไปยังสมอง (ขอละเอาไว้เท่านี้)
5. เลือดน่ะเหรอ? ออกสิครับ เยอะมากเลยด้วย ธุรกิจหน้าเลือดมาก ล้อเล่นนะครับ แล้วหลังจากที่ถอนฟันคุดออกไปแล้ว หมอก็จะยื่นกระจกให้ส่องดูว่าที่เหงือกมีรูเบ้อเร่ออยู่ เอ่อ มันค่อนข้างจะสยองขวัญ… เอ๊ะ? ทำไมผมถึงได้น้ำตาคลอแบบนี้ล่ะ?
…ไม่ ไม่ๆๆๆ ไม่ไหวหรอก ไม่ไหว ไม่ไหว ยังไงก็ไม่ไหวครับ แค่ฟังก็รู้สึกเจ็บแล้ว ผมน่ะเกลียดความเจ็บปวด แล้วก็เกลียดการรักษามากที่สุด เกลียดขนาดที่ว่า หากมันทำให้นึกถึงความเจ็บปวดล่ะก็ สู้อดทนกับความเจ็บปวดเอาไว้เสียยังจะดีกว่า (จะว่าไปแล้ว ทำไมเวลาที่พูดถึงเรื่องความเจ็บปวดให้คนอื่นฟัง จะต้องทำหน้าเหมือนสนุกเสียเต็มประดาขนาดนั้นด้วยงั้นเหรอ)
…แต่ถึงอย่างนั้น เรื่องนี้ก็ใช่ว่าปล่อยทิ้งไว้เฉยๆ แล้วมันจะหายได้เอง ถ้าผมเขียนพูดคุยท้ายเล่มนี้เสร็จ ก็คงจะนัดทันตแพทย์ล่ะมั้ง…
ในตอนที่หนังสือเล่มนี้ออกขาย ถ้าหากว่าทวิตเตอร์ หรือบล็อคของผมยังไม่มีอะไรคืบหน้า ก็ให้คิดเสียว่าผมได้รับบาดแผลทางจิตใจอย่างหนักนะครับ
เอาล่ะ สครัมเบิ้ล วิซาร์ดเองก็มาถึงเล่มจบแล้วครับ
การที่ผมสามารถเดินทางมาจนถึงตอนนี้ได้ รวมไปถึงการที่ผมสามารถเล่าเรื่องได้จนจบเช่นนี้ ทุกอย่างล้วนเป็นเพราะการสนับสนุนของผู้อ่านทุกๆ ท่านครับ ผมรู้สึกซาบซึ้งใจเป็นอย่างมาก
ในขณะที่ผมคิดเกี่ยวกับเล่ม 1 ผมก็ได้มีการวางโครงเรื่องตอนจบเอาไว้แล้วล่ะครับ แต่ว่ามันก็เป็นเพียงแค่เรื่องที่คิดอยู่ในหัวเท่านั้น การได้รับโอกาสตีพิมพ์ผลงานออกสู่ภายนอกเช่นนี้ ผมรู้สึกมีความสุขมากกว่าที่คาดหวังเอาไว้เสียอีก ในขณะที่ผมเขียนเรื่องราวอยู่นั้น มีบางส่วนที่หลุดออกจากแนวเรื่องไปมากมาย เช่น นิสัยของตัวละครบางตัวที่แตกต่างโดยสิ้นเชิงกับนิสัยตอนแรกที่วางเอาไว้ บางตัวถูกลดบทบาทลงอย่างมาก และกลับกัน บางตัวก็มีบทบาทเยอะขึ้นจากเดิม แต่อย่างไรก็ตาม ในท้ายที่สุดทุกคนยังคงไม่หยุดที่ตรงนั้นทั้งๆ ที่สมควรจะจบลงได้แล้ว
แม้ว่าเรื่องนี้จะจบลง ทว่าชีวิตของจูโร่และสึกิโกะจะดำเนินต่อไป หากพวกเขาเหล่านั้นสามารถทำให้ผู้อ่านสามารถรู้สึกได้ถึงคำว่า “ต่อจากนี้ไป” ได้ล่ะก็ ในฐานะที่เป็นเสมือนกับพ่อแม่ของพวกเขา ไม่มีอะไรที่ผมจะรู้สึกยินดีไปยิ่งกว่านี้แล้วล่ะครับ
ขอขอบคุณผู้ดูแลนิยายเรื่องนี้ คุณไซโต้ และคุณมาเอะดะ รวมถึงคุณคะโบะจะผู้วาดภาพประกอบที่น่าหลงใหล ทีมออกแบบ ฝ่ายดูแลเรื่องการตีพิมพ์และฝ่ายตัวแทนจำหน่ายหรือร้านค้าต่างๆ ทุกท่าน รวมถึงท่านอื่นๆ ที่มีส่วนช่วยในการกระจายหนังสือเล่มนี้ด้วยครับ แน่นอนว่าต้องขอขอบคุณผู้อ่านทุกๆ ท่านเป็นอย่างสูงอีกครั้งด้วยนะครับ
หวังว่าเราจะได้พบกันใหม่ในงานเขียนเรื่องถัดไปนะครับ
จนกว่าจะพบกันใหม่ครับ
เดือนมิถุนายน ปี 2010 สุเอะบะชิ เคน